ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 
เรื่องเล่า ตำนาน ของภูผายา ภูผาโขง ภูผาจันได ที่ชาวบ้านเล่าต่อๆ กันมามีหลายตำนาน แต่ตำนานที่เป็นเรื่องเล่าซึ่งรับรู้กันโดยทั่วไปคือ ที่มาของชื่อ "ภูผายา" เพราะมีต้นยาสูบที่เหมือนกับต้นยาสูบธรรมดา แต่มีใบใหญ่กว่า ชาวบ้านเล่าว่าในอดีตมีผู้พบเห็นใบยาร่วงหล่นลงมา 
ใบขนาดเท่าใบตองกุง สมัยก่อนมีคนไปพบโดยบังเอิญ แต่เป็นคนไม่โลภไม่อยากได้ของใคร จึงนำเรื่องมาเล่าต่อให้ลูกหลานได้ฟังสืบต่อกันมา ภายหลังมีคนจากหมู่บ้านอื่นๆ จังหวัดอื่นๆ เดินทางมาหาต้นยาตามคำเล่าลือ เพี่อจะนำไปทำยาหรือมาขอหวยขอโชคขอลาภ แต่ไม่มีผู้ใดที่มาด้วยความอยากได้อยากมีจะได้พบเห็น 
ทุกวันนี้ก็ยังมีต้นยาปรากฏให้เห็น แต่ก็จะเห็นเฉพาะฤดูฝนเท่านั้น ส่วนมากเกิดบริเวณถ้ำพระ นอกจากต้นยาแล้วบริเวณภูผายาก็ยังมีต้นไม้และเถาวัลย์อื่นที่เป็นยาสมุนไพรอีกจำนวนมาก 
 
"ถ้าใครมีบุญไปก็จะได้เห็นทันที ถ้าใครไม่มีบุญก็จะไม่เห็น หาทั้งวันก็จะไม่เห็น บางคนอาจหลงทางด้วยซ้ำ แต่ก่อนที่ภูผายาเคยมีนักพรต,นักบวช,ฤๅษี,ชีไพร พระภิกษุ,สามเณรเดินทางมาบำเพ็ญภาวนา เล่ากันว่าแม้พระอาจารย์หลวงปู่มั่น, พระอาจารย์ดำ,อาจารย์เขียว คำคะนิง ก็เคยผ่านมาปฏิบัติธรรมที่นี่" พ่อสุวรรณ สุดแสวง พ่อภูมิปัญญาชาวบ้านและอาสาสมัครสาธารณสุขบ้านโชคชัยเล่าตำนานให้ฟังระหว่างพาลูกหลานเดินศึกษาห้องเรียนธรรมชาติภูผายา
"ภูเขาแถบนี้ถูกเรียกและขนานนามว่า ภูถ้ำผาโขง ตามลักษณะที่โค้งตามหลุบเขา ไปดูเถอะแปลกตากว่าทุกที่ "จากคำบอกเล่าของ พระเที่ยง กิรสวโข พระธุดงค์ที่เดินทางมาพร้อมสามเณรน้อย 4 รูป ตั้งแต่ปี 2529 จากเชียงราย ข้ามเทือกเขาภูพานมาภูแก้วจนกระทั่งถึงถ้ำผาโขง และได้เข้าพำนักบำเพ็ญเพียรภาวนาเกิดความเลื่อมใสศรัทธาจึงได้จำพรรษา ณ ถ้ำผาโขง ต่อมามีพระเดินทางมาจำพรรษาอยู่เป็นประจำ เมื่อปี 2537 ที่มีการแบ่งเขตการปกครองใหม่เป็นจังหวัดหนองบัวลำภู
ภูผายามีภาพเขียนสีก่อนยุคประวัติศาสตร์ ที่บริเวณถ้ำพระ และถ้ำเสือ ซี่งอยู่ทางทิศตะวันออกของภูผายา อยู่ห่างจากพื้นที่ดำเนินการขอประทานบัตรเหมืองแร่เพียง 450 เมตร เป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ภูผายา ซึ่งเป็นสถานที่เคารพนับถือของราษฎร พระและชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างวัด(ที่พักสงฆ์) เพื่อวัตถุประสงค์ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียง มีกิจกรรมในการช่วยงานป่าไม้ โดยมีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ปลูกป่า 
 
เมื่อเริ่มมีกระแสข่าวการขอประทานบัตรแหล่งแร่หินภูผายา ภูผาโขง ตำบลดงมะไฟ ในช่วงปี 2536 ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงไม่เห็นด้วยและเริ่มรวบรวมรายชื่อเพื่อคัดค้าน แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันแกนนำคือนายหลอด ดวงภูตะ และนายนั่น สุขวรรณ ผู้รวบรวมรายชื่อคัดค้านถูกลอบยิงเสียชีวิต(ปัจจุบันยังจับคนร้ายไม่ได้) ชาวบ้านก็มิได้หยุดการคัดค้านเพราะเกรงกลัวอำนาจอิทธิพลหรือการเข่นฆ่าคุกคาม หากยังมีความพยายามรวมกลุ่มติดตามข่าวการเคลื่อนไหว
ชาวบ้านพยายามหาช่องทางด้านกฎหมายเพื่อต่อสู้คัดค้านด้วยการเข้าร่วมการอบรมทางกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน สื่อสารเจตจำนงและเรื่องราวการคัดค้านของชุมชนไปสู่ภายนอกทั้งหน่วยงานรัฐด้านการอนุรักษ์ และองค์กรภาคประชาชนอย่างสมัชชาคนจน สกยอ.ภาคอีสาน เพื่อขยายแนวร่วมการต่อสู้เพื่อปกป้องพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของชุมชน 
 
ช่วงปี 2542 ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลดงมะไฟรวบรวมรายชื่อได้กว่า 1,700 คน ได้ร่วมกันจัดตั้ง "ชมรมอนุรักษ์ภูผาป่าไม้ อำเภอสุวรรณคูหา" เพื่อเป็นกลไกของท้องถิ่นเองในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และยืนยันการคัดค้านประทานบัตรเหมืองแร่หินดังกล่าว ตลอดช่วงเวลาที่ชาวบ้านร่วมกันคัดค้านการอนุญาตประทานบัตรโรงโม่หิน ชาวบ้านในชุมชนร่วมแรง ร่วมใจกันจัดการป่าชุมชนมีคณะกรรมการกำหนดกฎเกณฑ์การใช้ประโยชน์จากป่าร่วมกัน ไม่ตัดไม้ทำลายป่า รักษาสภาพภูผาป่าไม้ด้วยกิจกรรม การปลูกป่า การลาดตระเวนดูแลป้องกันไฟป่า การสร้างแนวกันไฟ ไม่ล่าสัตว์ป่า ไม่เผาป่า การเพาะกล้าไม้เพื่อปลูกเสริมในป่า กิจกรรมต่างๆเหล่านี้มีทั้งผู้สูงอายุคนวัยกลางคนพ่อบ้าน-แม่บ้าน คนหนุ่มสาววัยทำงาน เด็กและเยาวชนร่วมมือกัน แสดงความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกันให้ยังคงอยู่สืบต่อไปถึงคนรุ่นลูกหลาน
 
นอกเหนือไปจากการร่วมกันยืนหยัดต่อสู้คัดค้านการอนุญาตประทานบัตร โดยใช้ช่องทางตามกฎหมาย ในชั้นศาลปกครองแล้ว "ชมรมอนุรักษ์ภูผาป่าไม้" ยังคงรวมตัวกันในการทำกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ในรูปแบบต่างๆ กิจกรรมหนึ่งที่ชุมชนได้มีความพยายามร่วมกันคือ โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ตำบลดงมะไฟ
แม้ในระยะหลังๆ ที่ทางบริษัทผู้ขอประทานบัตรโรงโม่จะหยุดดำเนินการใดๆ ตามที่ศาลปกครองมีคำสั่ง(สิงหาคม 2547) ชุมชนยังคงมีการเฝ้าระวังสถานการณ์การเคลื่อนไหวของทางโรงโม่ แม้ว่าชาวบ้านและแกนนำที่คัดค้านโรงโม่ส่วนหนึ่งปัจจุบันจะไม่อยู่ในพื้นที่เพราะไปหางานทำที่ กทม.หรือจังหวัดอื่นๆ แต่ก็มีการติดตามข่าวโดยการโทร.สอบถาม และฝากข่าวกันไปกับลูกหลานที่เดินทางไป-กลับ อยู่ตลอดเวลา 
 
"ที่ผ่านมาในการต่อสู้คดีที่ศาลปกครองขอนแก่น ชาวบ้านพวกเราก็พากันไป ใครมีรถนำรถไป ชาวบ้านก็ช่วยกันร่วมลงขันค่าน้ำมันช่วยเหลือและให้กำลังใจกันด้วยดีตลอดมา หากมีการกลับมาของโรงโม่อีกเมื่อไร ก็พร้อมจะเดินทางกลับบ้านไปคัดค้านทันที่ ลูกหลานพี่น้องที่ทำงานอยู่ด้วยกัน ถ้าติดงานไปไม่ได้ก็จะช่วยกันลงขันช่วยเงินสมทบค่ารถค่าเดินทาง ช่วยกันสิบบาท ซาวบาท ร้อยบาทก็ยินดี" เป็นเสียงยืนยันจาก แม่สอน คำแจ่ม แกนนำ แม่บ้านของกำนันทองม้วน คำแจ่ม ผู้นำการต่อสู้ที่ถูกลอบยิงตายเมื่อ ปี 2542 
 
พ่อสมพงษ์ ชินแสง ประธานชมรมอนุรักษ์ภูผาป่าไม้ และทีมงานภูมิปัญญาชาวบ้าน ต่างยังคงรวมกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนและติดตามสถานการณ์ด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ใช้การปรึกษาหารือและกำหนดบทบาทตามความถนัดและความสามารถ พ่อสมพงษ์จะเป็นหลักในเรื่องการต่อสู้คดีในศาลปกครอง การประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาทนายความ กรรมการสิทธิฯ และเป็นตัวแทนหรือผู้นำชาวบ้านออกไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดูงานด้านการอนุรักษ์ในพื้นที่ต่างๆ 
ชุมชนบ้านผาซ่อน บ้านโชคชัย และชุมชนที่ร่วมกันดูแลป่าภูผาดงมะไฟ ได้ยกระดับสำนึกรักและห่วงแหนภูผาป่าไม้ทรัพยากรธรรมชาติขึ้นสู่การพัฒนาเป็นหลักสูตรท้องถิ่น เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยชุมชนมีส่วนร่วมกับการจัดทำหลักสูตรนี้ และหลักสูตรนี้จะมีเรื่องราวที่ถ่ายทอดสำนึกรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และสืบสานภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไปยังเยาวชนลูกหลานรุ่นต่อๆ ไป
 
หมายเหตุ - คัดมาจากบางตอนของหนังสือ "กระบวนการต่อสู้เพื่อรักษาทรัพยากรชุมชน" ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะเปิดตัวพร้อมกับหนังสืออีก 5 เล่ม ในวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล โดยมีการจัดงานใหญ่ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เครดิตข้อมูลจาก : http://www.l3nr.org/posts/337248 

 

powered by social2s
รถตู้ให้เช่า จ.เลย หนองบัวลำภู

วิดีโอน่าสนใจ

Go to top